วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2561

สมุนไพรกับการนำไปใช้ประโยชน์


สมุนไพรน่ารู้

  
 ความหมายของพืชสมุนไพร
คำว่า สมุนไพร ตาม พระราชบัญญัติยา หมายถึง "ยาที่ได้จากพืช สัตว์ หรือแร่ ซึ่งยังไม่ได้ผสม ปรุง หรือเปลี่ยนสภาพ" เช่น พืชก็ยังเป็นส่วนของ ราก ลำต้น ใบ ดอก ผล ฯลฯ ซึ่งยังไม่ได้ผ่านขั้นตอนการแปรรูปใด ๆ แต่ในทางการค้าสมุนไพรมักจะถูกดัดแปลงในรูปต่าง ๆ เข่น ถูกหั่นให้เป็นชิ้นเล็กลง บดเป็นผงละเอียด หรืออัดเป็นแท่ง อย่างไรก็ตามในความรู้สึกของคนทั่ว ๆ ไป เมื่อกล่าวถึงสมุนไพร มักจะนึกถึงเฉพาะต้นไม้ที่นำมาใช้เป็นยาเท่านั้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าสัตว์ หรือแร่ มีการนำมาใช้น้อย และใช้ในโรคบางชนิดเท่านั้น

 ความสำคัญของพืชสมุนไพร
1. ความสำคัญในด้านสาธารณสุข
พืชสมุนไพร เป็นผลผลิตจากธรรมชาติ ที่มนุษย์รู้จักนำมาใช้เป็นประโยชน์ เพื่อการรักษาโรคภัยไข้เจ็บตั้งแต่โบราณกาลแล้ว เช่นในเอเชียก็มีหลักฐานแสดงว่ามนุษย์รู้จักใช้พืชสมุนไพรมากว่า 6,000 ปี แต่หลังจากที่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ มีการพัฒนาเจริญก้าวหน้ามากขึ้น มีการสังเคราะห์ และผลิตยาจากสารเคมี ในรูปที่ใช้ประโยชน์ได้ง่าย สะดวกสบายในการใช้มากกว่าสมุนไพร ทำให้ความนิยมใช้ยาสมุนไพรลดลงมาเป็นอันมาก เป็นเหตุให้ความรู้วิทยาการด้านสมุนไพรขาดการพัฒนา ไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร ในปัจจุบันทั่วโลกได้ยอมรับแล้วว่าผลที่ได้จากการสกัดสมุนไพร ให้คุณประโยชน์ดีกว่ายา ที่ได้จากการสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ประกอบกับในประเทศไทยเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ อันอุดมสมบูรณ์ มีพืชต่าง ๆ ที่ใช้เป็นสมุนไพรได้อย่างมากมายนับหมื่นชนิด ยังขาดก็แต่เพียงการค้นคว้าวิจัยในทางที่เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นเท่านั้น ความตื่นตัวที่จะพัฒนาความรู้ด้านพืชสมุนไพร จึงเริ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง มีการเริ่มต้นนโยบายสาธารณสุขขั้นมูลฐานอย่างเป็นทางการของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2522 โดยเพิ่มโครงการสาธารณสุขขั้นมูลฐานเข้าในแผนพัฒนาการสาธารณสุข ตามแผนพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520-2524) ต่อเนื่องจนถึงแผนพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535-2539) โดยมี กลวิธีการพัฒนาสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยในงานสาธารณสุขมูลฐาน คือ(1) สนับสนุนและพัฒนาวิชาการและเทคโนโลยีพื้นบ้านอันได้แก่ การแพทย์แผนไทย เภสัช กรรมแผนไทย การนวดไทย สมุนไพร และเทคโนโลยีพื้นบ้าน เพื่อใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหา สุขภาพของชุมชน
(2) สนับสนุนและส่งเสริมการดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง โดยใช้ สมุนไพร การแพทย์พื้นบ้าน การนวดไทย ในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน ให้เป็นไปอย่างถูกต้องเป็นระบบสามารถปรับประสานการดูแลสุขภาพแผนปัจจุบันได้ อาจกล่าวได้ว่าสมุนไพรสำหรับสาธารณสุขมูลฐานคือสมุนไพรที่ใช้ในการส่งเสริมสุขภาพ และการรักษาโรค/อาการเจ็บป่วยเบื้องต้น เพื่อให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้น


2. ความสำคัญในด้านเศรษฐกิจ
ในปัจจุบันพืชสมุนไพรจัดเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่ต่างประเทศกำลังหาทางลงทุนและคัดเลือกสมุนไพรไทยไปสกัดหาตัวยาเพื่อรักษาโรคบางโรคและมีหลายประเทศที่นำสมุนไพรไทยไปปลูกและทำการค้าขายแข่งกับประเทศไทย สมุนไพรหลายชนิดที่เราส่งออกเป็นรูปของวัตถุดิบคือ กระวาน ขมิ้นชัน เร่ว เปล้าน้อยและมะขามเปียกเป็นต้น ซึ่งสมุนไพรเหล่านี้ตลาดต่างประเทศยังคงมีความต้องการอีกมาก และในปัจจุบันกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสนใจในการศึกษาเพิ่มขึ้นและมีโครงการวิจัยบรรจุไว้ในแผนพัฒนาระบบการผลิต การตลาดและการสร้างงานในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530-2534) เพื่อหาความเป็นไปได้ในการพัฒนาคุณภาพและแหล่งปลูกสมุนไพรเพื่อส่งออก โดยกำหนดชนิดของสมุนไพรที่มีศักยภาพ 13 ชนิด คือ มะขามแขก กานพลู เทียนเกล็ดหอย ดองดึง เร่ว กระวาน ชะเอมเทศ ขมิ้น จันทร์เทศ ใบพลู พริกไทย ดีปลี และน้ำผึ้ง
ประโยชน์ของพืชสมุนไพร
  1. สามารถรักษาโรคบางชนิดได้ โดยไม่ต้องใช้ยาแผนปัจจุบัน ซึ่งบางชนิดอาจมีราคาแพง และต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก อีกทั้งอาจหาซื้อได้ยากในท้องถิ่นนั้น

  2. ให้ผลการรักษาได้ดีใกล้เคียงกับยาแผนปัจจุบัน และให้ความปลอดภัยแก่ผู้ใช้มากกว่าแผนปัจจุบัน

  3. สามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่นเพราะส่วนใหญ่ได้จากพืชซึ่งมีอยู่ทั่วไปทั้งในเมืองและ ชนบท

  4. มีราคาถูก สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อยาแผนปัจจุบัน ที่ต้องสั่งซื้อจากต่าง ประเทศเป็นการลดการขาดดุลทางการค้า

  5. ใช้เป็นยาบำรุงรักษาให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง

  6. ใช้เป็นอาหารและปลูกเป็นพืชผักสวนครัวได้ เช่น กะเพรา โหระพา ขิง ข่า ตำลึง

  7. ใช้ในการถนอมอาหารเช่น ลูกจันทร์ ดอกจันทร์และกานพลู

  8. ใช้ปรุงแต่ง กลิ่น สี รส ของอาหาร เช่น ลูกจันทร์ ใช้ปรุงแต่งกลิ่นอาหารพวก ขนมปัง เนย ไส้กรอก แฮม เบคอน

  9. สามารถปลูกเป็นไม้ประดับอาคารสถานที่ต่าง ๆ ให้สวยงาม เช่น คูน ชุมเห็ดเทศ

  10. ใช้ปรุงเป็นเครื่องสำอางเพื่อเสริมความงาม เช่น ว่านหางจระเข้ ปรนะคำดีควาย

  11. ใช้เป็นยาฆ่าแมลงในสวนผัก, ผลไม้ เช่น สะเดา ตะไคร้ หอม ยาสูบ

  12. เป็นพืชที่สามารถส่งออกทำรายได้ให้กับประเทศ เช่น กระวาน ขมิ้นชัน เร่ว

  13. เป็นการอนุรักษ์มรดกไทยให้ประชาชนในแต่ละท้องถิ่น รู้จักช่วยตนเองในการ นำพืชสมุนไพรในท้องถิ่นของตนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ตามแบบแผนโบราณ

  14. ทำให้คนเห็นคุณค่าและกลับมาดำเนินชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติยิ่งขึ้น

  15. ทำให้เกิดความภูมิใจในวัฒนธรรม และคุณค่าของความเป็นไทย




สมุนไพรน่ารู้


ตะไคร้



         ชื่อสมุนไพร           ตะไคร้
          ชื่อวิทยาศาสตร์     Cymbopogoncitratus (De ex Nees) Stapf.
          ชื่อวงศ์                   Poaceae (Gramineae)  
          ชื่อพ้อง                 -
          ชื่ออังกฤษ              Lapine, Lemon grass, West Indian lemongrass
          ชื่อท้องถิ่น             คาหอม, ไคร, จะไคร, เชิดเกรย, หัวสิงไค

ลักษณะทั่วไป  เป็นพืชล้มลุก ความสูงประมาณ 4-6 ฟุต ใบยาวเรียว ปลายใบมีขนหนาม ลำต้นรวมกันเป็นกอ มีกลิ่นหอม ดอกออกเป็นช่อยาวมีดอกเล็กฝอยเป็นจำนวนมาก ตะไคร้เป็นพืชที่สามารถนำส่วนต้นหัวไปประกอบอาหาร และจัดเป็นพืชสมุนไพรด้วยนั้นเป็นพืชล้มลุก ความสูงประมาณ 4-6 ฟุต ใบยาวเรียว ปลายใบมีขนหนาม ลำต้นรวมกันเป็นกอ มีกลิ่นหอม ดอกออกเป็นช่อยาวมีดอกเล็กฝอยเป็นจำนวนมากลำต้นตรงสีเขียวอ่อน มีนวลขาว ประกอบด้วยกาบใบซ้อนเป็นชั้นๆ อัดแน่น ใบยาวเรียวแหลม และสาก ขอบใบเรียบและคม สากมือทั้งสองด้านลำต้นและใบมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เป็นพืชที่ออกดอกยาก ดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ ผลมีขนาดเล็กโดยทั่วไปแบ่งตะไคร้ออกเป็น 6 ชนิด ได้แก่
              1. ตะไคร้กอ              4. ตะไคร้น้ำ
              2. ตะไคร้ต้น               5. ตะไคร้หางสิงห์
              3. ตะไคร้หางนาค            6. ตะไคร้หอม


การปลูกและขยายพันธุ์ ปลูกได้โดยการปักชำต้นเหง้าโดยตัดใบออกให้เหลือตอนโคนประมาณหนึ่งคืบ นำมาปักชำไว้สักหนึ่งสัปดาห์ก็จะมีรากงอกออกมา แล้วนำไปลงแปลงดินที่เตรียมไว้ หรืออาจใช้วิธีเอาโคนปักลงไปที่ดินซึ่งเตรียมไว้เลย ให้ห่างประมาณหนึ่งศอก ถ้าปลูกในกระถางใช้วิธีปักโคนลงในกระถาง ๆ ละ 2-3 ต้นก็ได้ แล้วหมั่นรดน้ำให้ชุ่มเช้าเย็น ตั้งไว้ให้โดนแดดตลอดวันจะทำให้โตได้เร็ว ตะไคร้ชอบดินร่วนซุย เป็นพืชที่ชอบน้ำ ชอบแดด ดูแลรดน้ำเสมอและโดนแดดได้ตลอดวัน เจริญได้ในดินแทบทุกชนิด เวลาจะใช้ก็ให้ตัดที่โคนสุดส่วนรากเลย แล้วถอนออกมาทั้งต้นตามต้องการ ต้องคอยตรวจดูเมื่อตะไคร้มีกอเจริญเติบโตได้เต็มที่แล้ว ต้องถอนทิ้งหรือแยกออกไปปลูกใหม่บ้างหรือเอาไปใช้บ้าง จะนำมาหั่นเป็นฝอย ๆ ตากลมไว้ให้แห้งสนิทแล้วแพ็คเก็บไว้ใช้ได้นาน ๆ เพื่อให้ต้นอ่อนโตขึ้นมาใหม่ ถ้าไม่แยกออกไปต้นจะเล็กและลีบลงเรื่อย ๆ และบางที่ก็แคระแกร็น ต้นและกอก็จะโทรม ต้องล้างและปลูกใหม่ทั้งหมดเปลี่ยนเป็นการแตกหน่อทำให้การปลูกและการขยายพันธ์ได้ง่าย

ลักษณะพันธุ์ไม้ ไม้ล้มลุก อายุหลายปี ขึ้นเป็นกอใหญ่ ลำต้นรูปทรงกระบอก แข็ง เกลี้ยง เหง้าใต้ดินมีกลิ่นเฉพาะ ใบรูปขอบขนานแคบ สีขาวนวลหรือขาวปนม่วง แผ่นใบสากและคม ดอกออกยาก เป็นช่อกระจาย สีน้ำตาลแดง แทงออกจากลำต้น ช่อดอกย่อยมีก้านออกเป็นคู่ๆ ดอกหนึ่งมีก้าน อีกดอกไม่มีก้าน ดอกย่อยนี้ยังประกอบด้วยดอกเล็กๆ 2 ดอก ดอกล่างลดรูปเป็นเพียงกลีบเดียวโปร่งแสง ดอกบนสมบูรณ์เพศ มีใบประดับ 2 ใบผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก



คุณค่าทางโภชนาการของตะไคร้  ตะไคร้ 100 กรัม ให้พลังงาน 143 กิโลแคลอรี โดยประกอบไปด้วยคาร์โบไฮเดรต 29.7 กรัม, โปรตีน 1.2กรัม, ไขมัน 2.1 กรัม, ใยอาหาร 4.2 กรัม, แคลเซียม 35 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 30 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 2.6 มิลลิกรัม, น้ำ 65.6 กรัม, วิตามินเอ 43 ไมโครกรัม, วิตามินบี1 0.05 มิลลิกรัม, วิตามินบี2 0.02 มิลลิกรัม, วิตามินซี 1 มิลลิกรัม, ไนอะซิน 2.2 มิลลิกรัม และเถ้า 1.4 กรัม

สรรพคุณของตะไคร้

1. ช่วยเจริญอาหาร เหง้าและลำต้นแก่ของตะไคร้ใช้ประกอบอาหารได้หลายชนิด ให้กลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์และมีสรรพคุณทางยา ช่วยบำรุงธาตุ ทำให้เจริญอาหาร
2. ช่วยล้างพิษในร่างกาย เพราะตะไคร้มีคุณสมบัติขับปัสสาวะ ทำให้เราปัสสาวะบ่อยขึ้น สารพิษและกรดยูริคจะถูกขับออกจากร่างกาย นอกจากนั้นสารเคมีในตะไคร้จะเข้าไปทำความสะอาดระบบย่อยอาหาร ตับ ตับอ่อน และไต ทำให้ระบบย่อยอาหารสะอาดขึ้น ระบบย่อยอาหารของเราก็จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ช่วยย่อยอาหาร ตะไคร้นอกจากจะช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยป้องกันและลดแก๊สในลำไส้ได้ โดยเฉพาะหากดื่มชาตะไคร้จะช่วยย่อยได้ดี
4. ช่วยไล่แมลง เพราะในตะไคร้มีน้ำมันหอมระเหยอยู่ทั้งในลำต้นและใบ น้ำมันหอมระเหยนี่เองที่มีคุณสมบัติไล่แมลงได้เป็นอย่างดี เราจึงเห็นผลิตภัณฑ์ไล่แมลงมักจะมีส่วนผสมของตะไคร้ด้วยเสมอ
5. เสริมสร้างความแข็งแรงและช่วยซ่อมแซมระบบประสาทได้ เมื่อเรานำน้ำมันหอมระเหยตะไคร้มาหยดลงบนผิว จะรู้สึกอุ่น ๆ ทำให้กล้ามเนื้อเราผ่อนคลายและลดอาการตะคริวได้ แต่การใช้น้ำมันหอมระเหยตะไคร้ไม่ควรใช้กับผิวโดยตรง แต่ต้องผสมกับน้ำมันตัวพา (Carrier oil) เสียก่อน
6.ช่วยลดอาการอักเสบ ตะไคร้ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายและช่วยบรรเทาอาการปวดต่าง ๆ ได้ เช่น ปวดฟัน ปวดตามข้อ ปวดกล้ามเนื้อ หากเรารู้สึกปวดตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ลองหาน้ำมันที่ผสมน้ำมันหอมระเหยตะไคร้มาถูนวดดูจะช่วยบรรเทาอาการได้มากเลยทีเดียว
7.ช่วยบำรุงผิวชั้นดี เพราะตะไคร้อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยบำรุงผิว ช่วยลดสิว ทำให้ผิวมีสุขภาพดี ดูอ่อนเยาว์อยู่เสมอ
 8. นำมาต้มกับน้ำดื่มแก้อาเจียนได้ หรือใช้ต้นสดมาโขลกคั้นเอาน้ำดื่มแก้อาการเมา ช่วยให้สร่างได้เร็ว
9. ตะไคร้ใช้ดับกลิ่นคาว แก้กลิ่นคาวของปลาและเนื้อสัตว์ได้ดี
10.ช่วยในการขับเหงื่อ เป็นยาบำรุงธาตุไฟให้เจริญ บำรุงธาตุ ช่วยแก้อาการเบื่ออาหาร ทำให้เจริญอาหาร
11. สารสกัดจากตะไคร้มีส่วนช่วยป้องกันโรคเมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
12. ช่วยแก้และบรรเทาอาการหวัด ช่วยรักษาอาการไข้ อาการไอ แก้อาการปวดศีรษะ
13. ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง รักษาโรคหอบหืด
14. ประโยชน์จากน้ำมันหอมระเหยของตะไคร้ ช่วยต่อต้านเชื้อราบนผิวหนังได้ ช่วยแก้โรคหนองใน หากนำไปผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ
15. น้ำตะไคร้หอม น้ำตะไคร้ใบเตย ดื่มช่วยดับร้อนแก้กระหายได้เป็นอย่างดี ทั้งยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้อีกหลายชนิด ทั้งเครื่องปรุงอบแห้ง ตะไคร้แห้งสำหรับชงดื่ม เป็นต้น
ข้อควรระวังของตะไคร้
           ถึงแม้ประโยชน์ของตะไคร้จะมีมากมาย แต่ในขณะเดียวกันก็มีผลเสียเช่นกัน ดังนั้นก่อนกินตะไคร้จึงควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับข้อควรระวังของตะไคร้ให้ดีก่อน โดยมีข้อควรระวังของการนำตะไคร้มากินและใช้ประโยชน์ดังนี้
1.ทำให้เสี่ยงแท้งได้ เพราะตะไคร้มีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อเรียบบีบตัว ดังนั้นคนที่กำลังตั้งครรภ์จึงไม่ควรกินตะไคร้เด็ดขาด เนื่องจากจะทำให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบตัวอย่างรุนแรงจนเสี่ยงต่อการแท้งได้ในที่สุด โดยเฉพาะในคนที่ตั้งครรภ์อ่อนๆ และท้องแก่ใกล้คลอด นอกจากนี้น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ก็ไม่ควรใช้เช่นกัน
2.อันตรายกับผู้ป่วยโรคบางชนิด  ในผู้ที่ป่วยโรคประจำตัวบางชนิด ก็อาจเป็นอันตรายจากการกินตะไคร้ได้เช่นกัน ดังนั้นสำหรับคนที่มีโรคประจำตัวหรือกำลังป่วย ควรปรึกษาแพทย์ให้ดีก่อนว่าสามารถกินตะไคร้ได้หรือไม่ จะได้ไม่เกิดอันตรายจากการกินตะไคร้โดยไม่รู้นั่นเอง
3.หญิงให้นมบุตรไม่ควรทาน  ความจริงแล้วยังไม่มีการวิจัยที่แน่ชัด ว่าการกินตะไคร้ในหญิงที่ให้นมบุตร จะก่อให้เกิดผลเสียใดๆ หรือไม่ ดังนั้นแพทย์ส่วนใหญ่จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการกินตะไคร้ในระหว่างที่กำลังให้นมบุตร ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวคุณแม่เองและทารกที่จะได้รับสารอาหารต่างๆ ผ่านทางน้ำนมแม่ด้วย
         ตะไคร้เป็นพืชผักสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ใส่คู่กับเมนูอาหารจานไหนก็ทำให้เมนูนั้นๆ ยิ่งทวีรสชาติและมีกลิ่นหอมเย้ายวนชวนน่าทาน นอกจากนี้ ประโยชน์ของตะไคร้ยังมีดีต่อสุขภาพอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าการกินตะไคร้ก็มีข้อควรระวังเช่นกัน โดยเฉพาะในคนท้องที่อาจเป็นอันตรายจากการกินตะไคร้ได้ง่าย เพราะฉะนั้นในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ควรหลีกเลี่ยงการกินตะไคร้อย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นคนท้อง แม่ให้นมลูก หรือผู้ป่วยด้วยโรคบางชนิด เป็นต้น
วิธีทําน้ำตะไคร้หอม
-เตรียมวัตถุดิบดังนี้ ตะไคร้ 1 ต้น / น้ำเชื่อม 15 กรัม / น้ำเปล่า 240 กรัม
-ล้างตะไคร้ให้สะอาด แล้วนำมาหั่นเป็นท่อน ทุบให้แตก
-ใส่ลงหม้อต้มกับน้ำให้เดือด จนกระทั่งน้ำตะไคร้ออกมาปนกับน้ำจนเป็นสีเขียว
-รอสักครู่แล้วยกลง หลังจากนั้นกรองเอาตะไคร้ออกแล้วเติมน้ำเชื่อมให้ได้รสตามพอใจ

วิธีทําน้ำตะไคร้ใบเตย
 - เตรียมวัตถุดิบดังนี้ ตะไคร้ 2 ต้น / ใบเตย 3 ใบ / น้ำ 1-2 ลิตร / น้ำตาลแดง 2 ช้อนชา (จะใส่หรือไม่ก็ได้)
-นำตะไคร้มาทุบให้แหลกพอประมาณ แล้วใช้ใบเตยมัดตะไคร้ไว้ให้เป็นก้อน
-ใส่ตะไคร้และใบเตยลงไปในหม้อแล้วเติมน้ำ 1 ถึง 2 ลิตร แล้วต้มให้เดือดสักประมาณ 5 นาที เป็นอันเสร็จ








 

ยำตะไคร้เพื่อสุขภาพ


วัตถุดิบยำตะไคร้

1. กุ้งแห้งทอด 2 ชต.
2. ถั่วลิสงทอด 2 ชต.
3. หมูสับต้มสุก 50 กรัม
4. น้ำมะนาว 3 ชต.
5. น้ำเชื่อม 2 ชต.
6. น้ำปลา 2 ชต.
7. พริกขี้หนูแดง 10 เม็ด
8. หอมแดง 2 หัว
9. ตะไคร้ต้นอ่อน 4 ต้น
10. ผักชีฝรั่ง 1 ต้น
11. ต้นหอม 1 ต้น



วิธีทำยำตะไคร้

1. ซอยหอมแดงเป็นแว่นๆ ตามด้วยซอยตะไคร้เป็นชิ้นเฉียงๆ และซอยต้นหอมผักชีฝรั่งรวมถึงสับปพริกขี้หนูให้ละเอียด
2. ผสมพริก , น้ำมะนาว ,น้ำเชื่อม ,น้ำปลา คนให้เข้ากัน จากนั้นเติมผักทั้งหมดลงไป
3. เติมหมูสับ ,ถั่ว ,กุ้งแห้ง คนให้เข้ากันเป็นอันพร้อมเสริฟ


เทียนหอมไล่ยุง


วัสดุเเละอุปกรณ์
1. น้ำมันหอมระเหยกลิ่นตะไคร้
2. พาราฟีน
3. สีเทียน
4. สาร S.A เเละ P.E
5. ไส้เทียน
6. เเม่พิมพ์
7. อุปกรณ์ในการตั้งไฟ เช่น เตาเเก๊ส
8. หม้อ
ขั้นตอนการทำ
1. ตั้งไฟที่เตาเเก๊สนำหม้อมาวาง
2. ใส่พาราฟีนลงไปเเล้วรอจนกว่าจะละลายประมาณ 10 นาที
3. หลังจากละลายเเล้วใส่น้ำมันหอมระเหยกลิ่นตะไคร้ สาร S.A. เเละ P.E. สีิเทียน ตามลำดับเเล้วรอเป็นเนื้อเดียวกันประมาณ 3-4 นาที
4. ปิดเตาเเก๊สเเล้วนำหม้ออกมาวางข้างนอกเเล้วรอให้ส่วนผสมเย็นตัวลงส่วนหนึ่ง
5. เทใส่เเม่พิมพ์ประมาณ 1 ใน 4 ของเเม่พิมพ์เเล้วรอให้เย็นตัวเเต่ไม่ให้เเข็งตัว
6. นำไส้เทียนมากดลงไปเเต่ไม่ให้ถึงก้นของเเม่พิมพ์จากนั้นใส่เพิ่มอีกจนเกือบเต็มเเม่พิมพ์
7. นำไปตกเเต่ง ใช้ประโยชน์ตามต้องการ

ตะไคร้หอมไล่ยุง

วัสดุอุปกรณ์

                                                                                                 
1.     ตะไคร้                   
2.     น้ำเปล่าสะอาด
3.     มีด
4.     เขียง
5.     เครื่องปั่น หรือ ครก
6.     ผ้าขาวบาง
7.     ภาชนะบรรจุ(ขวดสเปรย์)
8.     กรวย



วิธีทำ




1. นำต้นตะไคร้มาล้างให้สะอาด  และหั่นซอยบางๆ
2. นำต้นตะไคร้ที่ล้างแล้วใส่ครกโขลกให้ละเอียด  หรือถ้ามีเครื่อง
ปั่น  ก็ใส่เครื่องปั่น  นำมาปั่นให้ละเอียด
  3. นำตะไคร้ปั่นละเอียดแล้วมาใส่ผ้าขาวบางคั้นเอาน้ำตะไคร้  แล้วนำน้ำตะไคร้ 1 ส่วน  : น้ำ 3ส่วน  ผสมกัน
  
4.   ก็จะได้น้ำตะไคร้ไว้สำหรับทาตามแขนหรือขา

ประโยชน์

น้ำตะไคร้ไล่ยุงได้  ไม่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์
ทำง่าย  ราคาถูก  ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์  รู้จักนำสมุนไพรในครัวเรือนมาใช้ให้เกิดประโยชน์


ที่มา
-http://www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/cymbopo.html.เรื่องตะไคร้ .[14 ส.ค. 2018].
-http://www.the-than.com/samonpai/sa_9.html. ตะไคร้หอม.[14 ส.ค. 2018].
-http://www.tnews.co.th/contents/359692. ประโยชน์และสรรพคุณของตะไคร้.[14 ส.ค. 2018].
-https://health.kapook.com/view99880.html.สมุนไพรลดความดันโลหิตสูง พืชมหัศจรรย์ใกล้ตัว.[14 ส.ค. 2018].
-http://www.foodtravel.tv/recipe.aspx?viewid=721.[8 ก.ย. 2018]
-https://www.google.co.th/search?q=ตะไคร้หอมไล่ยุง+วิธีทํา.[8 ก.ย. 2018]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น